มารู้จักที่มาของ "ชามกาไก่" ผลิตภัณฑ์เซรามิคที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำปาง  

Posted by Ceramic Lampang Online

          ชามไก่ “ ชามไก่ ” หรือที่คนแต้จิ๋วเรียก “ โกยอั้ว ” และที่ ปัจจุบันนิยมเรียก “ ชามตราไก่ ” นั้น  มีประวัติ ความเป็นมาที่ยาวนาน ซึ่งในประเทศไทยเป็นที่นิยมใช้สำหรับใส่ข้าวต้มรับประทาน โดยเฉพาะในหมู่คนจีนแต้จิ๋วตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจากรูปไก่สีแดง และลักษณะของชามที่เหมาะกับการใช้ตะเกียบพุ้ย 
          
ลักษณะของชามไก่ 
         ชามไก่ในยุคแรกเป็นชามทรงแปดเหลี่ยมเกือบกลมปากบาน ข้างชามด้านนอกมีรอยบุบเล็กน้อยรับกับ เหลี่ยมของชาม ขาเป็นเชิง ชุบเคลือบขี้เถ้า วาดลวดลายบนเคลือบด้วยมือเป็นรูปไก่ ขนคอและลำตัวสีแดง หางและขาสีดำเดินอยู่บนหญ้าสีเขียว มีดอกโบตั๋นสีชมพูออกม่วงใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านซ้าย และมีต้นกล้วย 3 ใบสีเขียวตัดเส้นด้วยสีดำอยู่ด้านขวา นอกจากนั้นชามบางใบยังมีนกบินห้อยหัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับไก่ และมีดอกไม้และใบไม้เล็ก ๆ แต้มอยู่ก้นชามด้านในอีกด้วย 

ในยุคแรกชามไก่มี 4 ขนาด คือ
          ขนาด ปากกว้าง 5 นิ้ว ( เสี่ยวเต้า ) 6 นิ้ว ( ตั่วเต้า ) 7 นิ้ว ( ยี่ไห้ ) และ 8 นิ้ว ( เต๋งไห้ ) ชามไก่ขนาด 5 – 6 นิ้ว สำหรับใช้ในบ้านและร้านข้าวต้มชั้นผู้ดี ส่วนชามไก่ขนาด 7 – 8 นิ้ว เหมาะสำหรับ เป็นชามให้หมู่กุลีที่ทำงานหนักใช้ เพราะรับประทานจุ 

วิธีผลิตแบบโบราณ 
         เริ่มจากการผสมดินโดยย่ำด้วยเท้าและนวดด้วยมือ จากนั้นนำดินมาปั้นตบเป็นดินแผ่นแล้วจึงอัดดินลงแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ หมุนขึ้นรูปชามเป็นวงกลมด้วยมือ ปาดด้วยไก๊ (ไม้ปาดตัดเป็นรูปโค้ง) แล้วนำมาต่อขา ทิ้งชามที่ขึ้นรูปแล้วเสร็จไว้บนกระดานให้แห้งโดยธรรมชาติ นำมาชุบเคลือบที่ทำจากขี้เถ้าแกลบปูนหอยและดินขาว จากนั้นบรรจุลงจ้อนำไปเรียงในเตามังกรเผาด้วยฟืนในความร้อนประมาณ 1300 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 18-24 ชั่วโมง เมื่อเผาสุกดีแล้วจึงนำชามมาเขียนสีบนเคลือบด้วยพู่กันเป็นลายไก่ ดอกไม้และต้นกล้วย แล้วเผาในเตาอบรูปกลม ภายในเป็นถังดินขนาดใหญ่ ด้วยความร้อนประมาณ 700 – 750 องศาเซลเซียส ด้วยฟืนประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง รอจนเย็นจึงบรรจุใส่เข่งส่งจำหน่าย 

ความเป็นมาของชามไก่ 
          ชามไก่มีต้นกำเนิดการผลิตในประเทศจีนกว่าร้อยปีมาแล้ว โดยชนชาวจีนแคะ ตำบลกอปี อำเภอไท้ปู มณฑลกวางตุ้ง และชาวจีนแต้จิ๋ว ที่ตำบลปังโคย ซึ่งมีเขตติดต่อกันทางใต้ ชามไก่นอกจากใช้ในประเทศจีนแล้ว ยังส่งจำหน่ายแก่ชาวจีนโพ้นทะเลด้วย ดังนั้นส่วนหนึ่งจึงส่งมาจำหน่ายยังประเทศไทย ซึ่งมีชาวจีนโดยเฉพาะชาวแต้จิ๋วอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 

ชามไก่ลำปางในประเทศไทย
          เนื่องจากในระยะก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ยังไม่มีผู้ผลิตชามไก่ในประเทศไทย และมีความต้องการจากตลาดมาก พ่อค้าชาวจีนซึ่งอยู่แถวถนนทรงวาดตลาดเก่าในกรุงเทพฯ จึงสั่งนำเข้าชามไก่มาจากประเทศจีน ซึ่งในขณะนั้นมีราคาถูกมาก ต่อมาเกิดสงครามจีนญี่ปุ่นขึ้น ทำให้ชามไก่ขาดตลาด ของที่นำเข้าไม่พอขาย และราคาสูงขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ถึง 2500 มีช่างชาวจีนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย ได้มีการก่อเตามังกร และทำเครื่องปั้นดินเผาซึ่งรวมถึงชามไก่ด้วยเพราะเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งได้แก่โรงงานอุตสาหกรรมดินเผา สี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ โรงงานบุญอยู่พาณิชย์ และ โรงงานศิลามิตร จังหวัดเชียงใหม่ และโรงงานของ นายทวี ผลเจริญ ที่วงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี ซึ่งชามไก่ในช่วงนั้นมีไม่มากนัก เนื่องจากยังขาดดินคุณภาพดี ช่างชาวจีนเหล่านี้ส่วนหนึ่งจึงได้ย้ายขึ้นมาตั้งโรงงานที่จังหวัดลำปาง หลังจากได้มีการพบดินขาวที่อำเภอแจ้ห่ม

ชามไก่ในจังหวัดลำปาง 
            ชามไก่เริ่มมีการผลิตขึ้นในจังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยชาวจีนเมืองไท้ปู (ในฮกเกี้ยน ) 4 คน คือ นายซิมหยู (โรงงานธนบดีสกุลในปัจจุบัน) นายเซี่ยะหยุย แซ่อื้อ (โรงงานไทยมิตรในปัจจุบัน) นายซิวกิม แซ่กว๊อก (โรงงานกฎชาญเจริญในปัจจุบัน) และนายซือเมน แซ่เทน (โรงงานเจริญเมืองในปัจจุบัน) ได้ร่วมกันก่อตั้งโรงงาน เครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกของจังหวัดลำปางชื่อ “โรงงานร่วมสามัคคี” ที่หมู่บ้านป่าขาม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ผลิตชามไก่ขนาด 6” และ 7” และถ้วยยี่ไฮ้ สามปีต่อมาหุ้นส่วนต่าง ๆ ก็ได้แยกตัวออกไปเปิดโรงงานผลิตถ้วยชามของตนเอง ระหว่างปี พ.ศ. 2502 – 2505 กลุ่มชาวจีนได้ทยอยกันมาตั้งโรงงานผลิตถ้วยชามที่จังหวัดลำปางมากขึ้น ทำให้เป็นแหล่งผลิตชามไก่มากกว่าแหล่งอื่น ๆ ในประเทศ จึงเป็นช่วงที่มีการผลิตชามไก่กันมากที่สุด และได้ราคาดี เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าชามไก่จากประเทศจีนได้ ซึ่งในสมัยนั้น ชามไก่ขนาด 6 นิ้วที่คุณภาพดี ได้ราคาถึงใบละ 1.50 บาท 

วิธีการผลิตชามไก่ในลำปาง 
            วิธีการผลิตชามไก่ในลำปางเมื่อเริ่มแรกนั้น อาศัยวัสดุอุปกรณ์ท้องถิ่นมาใช้ในการขึ้นรูป โดยหาล้อจักรยานมาเป็นแป้นหมุน มีแผ่นไม้ตัดเป็นรูปโค้งขนาดเหมาะมือจับ (จิ๊กเกอร์มือ) ขว้างดินที่หมักเปียก (ดินขาวลำปาง) ลงบนพิมพ์ ซึ่งหมุนบนล้อจักรยาน แล้วใช้จิ๊กเกอร์ไม้กวาดแต่งเติมดินให้ได้รูปทรงถ้วยกลมทีละใบ แล้วนำมาต่อขา โดยที่ชามไกใ่นยุคแรก ๆ จะค่อนข้างหนา สำหรับการเคลือบ ใช้ เคลือบขี้เถ้าแกลบตำบดในครกขนาดใหญ่ โดยใช้แรงคนเหยียบหลายวันจนละเอียด แล้วนำมาร่อนตะแกรง ก่อนจะนำมาแช่น้ำในบ่อให้ตกตะกอน นำเอาส่วนที่ไม่ตกตะกอนมาใช้ แล้วนำถ้วยชามมาจุ่มเคลือบทั้งใบ วิธีการเผานั้น ใช้เตามังกรโบราณแบบกอปี นำฟืนไม้ไผ่แห้งเป็นเชื้อเพลิง เตามีลักษณะยาวประมาณ 15-20 เมตร ทำช่อง ใส่ฟืนเป็นระยะ ๆ ภายในก่อเป็นขั้นบันไดตามความยาวของเตา โดยนำถ้วยชามที่เคลือบเสร็จมาบรรจุในจ๊อทนไฟ นำมาเรียงในเตาและเผาที่อุณหภูมิสูงประมาณ 1250 – 1300 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง ถ้วยชามที่เผาจึงสุกตัวพอดี ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยประสบการณ์พิเศษ โดยการสังเกตุสีของเปลวไฟ และการชักตัวอย่าง เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือวัดอุณหภูมิในเตาเผา 

การวาดลายไก่บนชามเคลือบ 
             ได้มีการฝึกคนงานในท้องถิ่นตวัดพู่กันจีน โดยให้คนวาด 2 – 3 คน วาดเป็นส่วน ๆ ต่อเติมจนเต็มรูปแบบในแต่ละใบ แต่ละคนจะจับพู่กันทีละ 2 –3 ด้ามในเวลาเดียวกัน จากนั้นนำมาเผาในเตากลมอุณหภูมิประมาณ 750 องศาเซลเซียส 
              ชามไก่ที่ผลิตได้ในรุ่นแรก ๆ มีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด สาเหตุหนึ่งเพราะความยุ่งยากและความล่าช้าของขั้นตอนกรรมวิธีการผลิต 

การเปลี่ยนแปลงของชามไก่
              ในการเปลี่ยนรูปแบบ เมื่อโรงงานต่างๆ หันมาลดต้นทุนในการผลิต เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาต่ำลง โดยเริ่มใช้เครื่องปั้น หรือเครื่องจิ๊กเกอร์เข้ามาช่วยในการผลิต ชามไก่จึงมีลักษณะกลมไม่เป็นเหลี่ยม และต่อมาได้มีการทำแม่พิมพ์ให้มีขาชามในตัว เพื่อจะได้ไม่ต้องต่อขาชามภายหลัง ขาชามไก่รุ่นหลังจึงไม่เป็นเชิง จะตรงลงมาในแนวดิ่ง ชามไก่เริ่มเปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อโรงงานเสถียรภาพที่อ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่สร้างเตาอุโมงค์เผาด้วยน้ำมันเตาในปี พ.ศ. 2505 และสามารถเผาถ้วยชามแบบเผาครั้งเดียวได้ ซึ่งรวมถึงการเผาถ้วยชามที่วาดสีใต้เคลือบในครั้งเดียวกันโดยไม่ต้องอบสีในภายหลัง ลักษณะของชามไก่ที่ผลิตขึ้นในช่วงนี้ ลายไก่วาดด้วยสีเขียวหาง น้ำเงิน ดอกไม้สีชมพู ลายวาดลดความละเอียดลง ราคาขายก็ถูกลง สามารถทำตลาดได้ดี เนื่องจากราคาถูกและลวดลายไม่ถลอกได้ง่าย จากนั้นราคาชามไก่ก็ถูกลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2506 โรงงานถ้วยชามเริ่มหันมาผลิตถ้วยชามรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะถ้วยชามแบบญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้น จังหวัดลำปางเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ยังผลิตชามไก่มาอย่างต่อเนื่อง แต่หาช่างฝีมือที่คงรูปแบบเดิมยาก อีกทั้งสีที่วาดมีราคาแพง ส่วนใหญ่จึงใช้สีวาดใต้เคลือบ เผาครั้งเดียว ที่อุณหภูมิประมาณ 1260 องศาเซลเซียส การวาดลายไก่มีการเปลี่ยนมาใช้สีชมพู หางสีน้ำเงิน แซมใบไม้ สีเขียวเข้ม และราคาขายชามไก่ขนาด 6 นิ้ว ในปี พ.ศ. 2516 มีราคาเพียงใบละ 40 สตางค์ เท่านั้น ทั้งยังมีการผลิตน้อยลงเรื่อย ๆ และการผลิตด้วยสีบนเคลือบแบบดั้งเดิมเริ่มหายไปจากตลาด 

ชามไก่ในยุคปัจจุบัน 
                  เมื่อชามไก่ในยุคหลัง ๆ ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก และกลายเป็นสินค้าราคาถูก จึงเริ่มมีการสะสม และกว้านซื้อชามไก่ในรุ่นแรก ๆ ซึ่งมีสีสันสวยงามจนทำให้ชามไก่รุ่นแรก ๆ หายไปจากตลาด จนเริ่มมีบางโรงงาน หันกลับมาผลิตชามไก่ให้คล้ายกับรุ่นแรก ๆ โดยขายในราคาที่สูงขึ้น สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางเห็นความสำคัญของชามไก่ ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาในยุคแรกของจังหวัดลำปาง และยังคงมีผลิตอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย เห็นสมควรที่จะรักษาไว้ จึงได้สร้างประติมากรรมรูปชามไก่ ขนาดกว้าง 3.5 เมตร ไว้ที่แยกทางเข้าจังหวัดลำปาง ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เมื่อราวปี พ.ศ. 2542 ให้ผู้ผ่านไปมา ได้รับรู้และเห็นความสำคัญของชามไก่ ที่มีต่อจังหวัดลำปาง และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปหันกลับมาใช้ชามไก่มากยิ่งขึ้น ในช่วง ปี พ.ศ. 2544 มีโรงงานในจังหวัดลำปาง หันกลับมาผลิตชามไก่กันมากขึ้น ทั้งแบบวาดใต้เคลือบ และวาดบนเคลือบแบบเก่า ตามความต้องการของตลาด ทั้งเผาด้วยเตามังกรโดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงและเผาด้วย เตาแก๊ส ชามไก่ที่ผลิตขึ้น มีมากกว่า 10 ขนาด ตั้งแต่ 1 นิ้วไปจนถึง 8 นิ้ว และพัฒนารูปแบบไปหลากหลาย ตั้งแต่ จาน ชาม ถ้วย น้ำ ช้อน และของที่ระลึกต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัด และบางส่วนยังสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้อีกด้วย 
                  ชามไก่ถือเป็นต้นกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจังหวัดลำปางมีการผลิตเซรามิกหลากหลายประเภท ตั้งแต่เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของประดับ ของชำร่วย กระเบื้องสุขภัณฑ์ ลูกถ้วยไฟฟ้า ตลอดจนลูกกรงเซรามิก และแม้ว่าปัจจุบันชามไก่จะไม่ใช่สินค้าที่มีมูลค่าหลักของเซรามิกจังหวัดลำปาง แต่ชามไก่มีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง และจะอยู่ในความทรงจำของกลุ่มผู้ผลิตเซรามิกจังหวัดลำปาง และของคนไทยตลอดไป

              "คราวหน้าเราจะนำบทความที่เกี่ยวกับเซรามิคลำปางอะไรมาฝากกัน ต้องติดตามให้ได้นะคะ "